ในภาวะสังคมปจัจุบัน
หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวเป็นตัวชี้บอกว่า
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคสารสนเทศ ดังจะเห็นได้จากวงการศึกษาสนใจให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์งานต่างๆ
มากขึ้น การบริหารธุรกิจของบริษัทห้างร้านต่างๆ
ตลอดจนหน่วยงานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในองค์กร
ด้วยการเก็บข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำผลลัพธ์มาช่วยในการวางแผนและตัดสินใจ
ระยะเริ่มแรกที่มนุษย์ได้คิดค้นประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์
คอมพิวเตอร์ได้ถูกใช้ทำงานด้านการคำนวณทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่แล้วจึงนำมาใช้เก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลทางด้านธุรกิจในเวลาต่อมา
ระยะแรกนี้เรียกว่าระยะของการประมวลผลข้อมูล ( data processing
age )
ข้อมูลที่ได้มาจะต้องผ่านการประมวลผลให้ได้เป็นสารสนเทศก่อน
จึงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
วิธีการประมวลผลข้อมูลจะเริ่มตั้งแต่การรวบรวมจัดเก็บข้อมูล
เมื่อได้ข้อมูลแล้วต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง แบ่งกลุ่มจัดประเภทของข้อมูล เช่น
ข้อมูลตัวอักษรซึ่งเป็นชื่อหรือข้อความก็อาจต้องมีการเรียงลำดับ
และข้อมูลตัวเลขก็อาจต้องมีคำนวณ จากนั้นจึงทำสรุปได้เป็นสารสนเทศออกมา
ถ้าข้อมูลที่นำมาประมวลผลมีจำนวนมากจนเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะจัดการได้ในเวลาอันสั้น
ก็จำเป็นจะต้องนำคอมพิวเตอร์มาช่วยเก็บและประมวลผล
เมื่อข้อมูลอยู่ภายในคอมพิวเตอร์ การแก้ไขหรือเรียกค้นสามารถทำได้สะดวกและรวดเร็ว
ขณะเดียวกันการทำสำเนาและการแจกจ่ายข้อมูล ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
งานที่เกิดขึ้นจากการประมวลผลข้อมูลมักเก็บในลักษณะแฟ้มข้อมูล
ตัวอย่างเช่น การทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานในบริษัท
ข้อมูลเงินเดือนของพนักงานที่เก็บในคอมพิวเตอร์จะรวมกันเป็นแฟ้มข้อมูลที่ประกอบด้วยชื่อพนักงาน
เงินเดือน และข้อมูลสำคัญอื่นๆ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเรียกแฟ้มเงินเดือนมาประมวลผลและสรุปผลรวมยอด
ขั้นตอนการทำงานจะต้องทำพร้อมกันทีเดียวทั้งแฟ้มข้อมูล ที่เรียกว่า
การประมวลผลแบบกลุ่ม ( batch processing )
แต่เนื่องจากระบบงานที่เกิดขึ้นภายในองค์กรค่อนข้างซับซ้อน เช่น
รายได้ของพนักงานที่ได้รับในแต่ลัเดือน อาจไม่ได้มาจากอัตราเงินเดือนประจำเท่านั้น
แต่อาจมีค่านายหน้าจากการขายสินค้าด้วย ในลักษณะนี้แฟ้มข้อมูลการขาย
จะสัมพันธ์กับแฟ้มข้อมูลเงินเดือน และสัมพันธ์กับแฟ้มข้อมูลอื่นๆ เช่น
ค่าสวัสดิการ การหักเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ระบบข้อมูลจะกลายเป็นระบบที่มีแฟ้มข้อมูลหลายแฟ้มเชื่อมสัมพันธ์กัน
และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เรียกแฟ้มข้อมูลเหล่านั้นมาจัดการให้เป็นไปตามที่ต้องการ
ระบบนี้เรียกว่า ระบบฐานข้อมูล ( database system )
การจัดการข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูล จะเป็นระบบสารสนเทศที่มีประโยชน์ซึ่งนำไปช่วยงานด้านต่างๆอย่างได้ผล
ระบบข้อมูลที่สร้างเพื่อใช้ในบริษัทจะเป็นระบบฐานข้อมูลของกิจกรรมที่เกิดขึ้น
เพื่อแสดงสารสนเทศที่เป็นจริงของบริษัท
สามารถนำข้อเท็จจริงนั้นไปวิเคราะห์และนำผลลัพธ์ไปประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร
เพื่อการวางแผนและกำหนดนโยบายการจัดการต่างๆ
ในปัจจุบันการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
อยู่ที่การใช้สารสนเทศเป็นส่วนใหญ่ แนวโน้มของระบบจัดการข้อมูลของยุคนี้
เริ่มเปลี่ยนจากระบบงานการประมวลผลแบบกลุ่มมาเป็นระบบตอบสนองทันที ที่เรียกว่า
การประมวลผลแบบเชื่อมตรง ( online processing ) เช่น การฝากถอนเงินของธนาคารต่างๆ
ผ่านเครื่องรับ - จ่ายเงินอัตโนมัติหรือระบบเอทีเอ็ม ( Automatic
Teller Machine : ATM )
ขณะที่ประเทศต่างๆยังอยู่ในยุคของการประมวลผลสารสนเทศ ในบางประเทศ เช่น
สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้พัฒนาเข้าสู่การประมวลผลฐานความรู้
( knowledge - base processing ) โดยให้คอมพิวเตอร์ใช้ง่าย
รู้จักตอบสนองกับผู้ใช้ และสามารถแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยการตัดสินใจระดับสูง
ด้วยการเก็บสะสมฐานความรู้ไว้ในคอมพิวเตอร์ และมีโครงสร้างการให้เหตุผล
เพื่อนำความรู้มาช่วยแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อน
การประมวลผลฐานความรู้เป็นการประยุกต์หลักวิชาด้านปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial
Intelligence : AI ) ที่รวบรวมศาสตร์หลายแขนง คือ
คอมพิวเตอร์ จิตวิทยา ปรัชญา และภาษาศาสตร์เข้าด้วยกัน
ตัวอย่างชิ้นงานประเภทนี้ได้แก่ หุ่นยนต์ ( robot ) และระบบผู้เชี่ยวชาญ ( expert
system ) ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบผู้เชี่ยวชาญช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ
การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและการอนุมัติให้กู้ยืมเงิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น